“สพฺพปาปสฺส อกรณํ” การไม่ทำบาป ความเศร้าหมองอันเป็นความทุกข์ทั้งปวง หนึ่ง คือบาปทางใจนั้นสำคัญมาก คนเราสร้างได้ทุกเวลา บาปทางกาย ทางวาจายังมีกาลมีเวลา แต่บาปทางใจที่สร้างความเศร้าหมองขึ้นมาแก่จิตใจนั้น มันเกิดขึ้นด้วยความคิดความปรุงของตัวเอง
สิ่งที่ผลักดันออกมาให้ปรุงให้จิตใจเศร้าหมอง ก็คือสิ่งที่เศร้าหมองอยู่แล้ว สิ่งที่สกปรกอยู่แล้วภายในใจ ท่านเรียกว่า “กิเลส” กิเลสเป็นเครื่องปรุงแต่งสัญญา, สังขารออกมา มันเป็นกิเลสอีกประเภทหนึ่ง ที่ทำให้จิตใจเศร้าหมอง
การทำบาป คือการสร้างความเศร้าหมอง ไม่ได้หมายความว่าต้องไปเที่ยวฉกลัก ปล้นสะดมใครก็ตาม อันนั้นเป็นส่วนหยาบ บาปส่วนกลาง ส่วนละเอียดนั้น คนเรามักสร้างกันอยู่ภายในใจตลอดเวลา จึงเท่ากับสร้างความเศร้าหมองอยู่ภายในจิตตลอดเวลาเช่นกัน
เมื่อใจเป็นความเศร้าหมอง นั่งอยู่ก็เศร้าหมอง เพราะนั่งอยู่ก็สร้างความเศร้าหมองให้แก่ใจ ยืน เดิน นั่ง นอน คิดได้สร้างได้ทั้งนั้น ใจจึงเศร้าหมองได้ทุกอิริยาบถ ท่านสอนให้ไม่ทำความเศร้าหมองนี้ประการหนึ่ง
จะทำด้วยวิธีใด ใจจึงจะไม่เศร้าหมอง? “กุสลสฺสูปสมฺปทา” จงยังความฉลาดให้ถึงพร้อมเพื่อจะแก้ไข เพื่อซักฟอกความเศร้าหมอง คือ “บาป” นั้นออกจากใจ แล้วกลายเป็น “สจิตฺตปริโยทปนํ” ขึ้นมา คือใจจะผ่องใส
เมื่อความฉลาด คือมีสติ มีปัญญา เป็นเครื่องซักฟอกบาปความเศร้าหมอง ความสกปรกทั้งหลายออกจากใจ ใจก็เป็นความผ่องใสขึ้นมาที่เรียกว่า “สจิตฺตปริโยทปนํ” บาปน้อย บาปใหญ่ก็ค่อยหมดไป หมดไป กลายเป็นใจที่บริสุทธิ์ขึ้นมา
นี่คือพระโอวาทของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ เป็นอย่างนี้กันทั้งนั้น สอนให้พวกเราทำอย่างนี้ด้วยกัน จึงไม่มีทางอื่นที่จะเลือก
บางส่วนจาก มาฆบูชา
พระธรรมเทศนา หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1563&CatID=1
18.8.16
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment