ท่านที่ถือการฟังธรรมเป็นเนื้อเป็นหนังจริง ๆ คือ ท่านนักปฏิบัติ ซึ่งเคยฟังการอบรมจากครูอาจารย์มา และฟังธรรมด้านปฏิบัติ ไม่ใช่ฟังธรรมทั่วๆ ไป เพราะขณะที่นั่งฟังนั้นเป็นภาคปฏิบัติได้เป็นอย่างดี ยิ่งกว่าการปฏิบัติโดยลำพังตนเอง
เพราะเกี่ยวกับธรรมะที่ท่านแสดงเข้าไปสัมผัสภายในใจเป็นลำดับๆ ใจรับทราบ และทราบทั้งความหมายด้วยไปในตัว จิตที่รับกระแสแห่งธรรมที่ท่านแสดงไปไม่ขาดวรรคขาดตอนนั้น ย่อมทำให้จิตลืมความคิดต่างๆ ซึ่งเคยคิดโดยปกติของจิต จนกลายเป็นความเพลินต่อธรรม และเป็นความสงบลงไปได้
แม้ผู้ที่ยังไม่เคยฟังการอบรมเลย เวลานั่งภาวนาฟังก็เกิดความสงบได้ สำหรับผู้ที่เคยอยู่แล้วนั้นก็เป็นอีกแง่หนึ่ง การนั่งปฏิบัติกรรมฐานในขณะฟังธรรม จึงเป็นภาคปฏิบัติอันดับหนึ่งของการปฏิบัติทั้งหลาย
เพราะเราไม่ได้ปรุงได้แต่ง ท่านปรุงท่านแต่งให้เสร็จ เนื้ออรรถเนื้อธรรมท่านแสดงเข้าไปสัมผัส ซึมซาบถึงจิตใจให้เกิดความซาบซึ้ง ให้เกิดความสงบเย็นใจลงโดยลำดับ ถ้าจิตเกี่ยวกับสมาธิก็สงบได้อย่างรวดเร็ว และง่ายกว่าที่เราบังคับบัญชาโดยลำพังที่ภาวนาเพียงคนเดียว
ถ้าเป็นด้านปัญญา ท่านอธิบายไปในแง่ใด ปัญญาก็ตามท่าน คือขยับตามท่านเรื่อยๆ เพลินไปตามนั้น เหมือนกับท่านพาบุกเบิกและท่านบุกเบิกให้ เราก็ติดต้อยตามหลังท่านไป
เพราะฉะนั้นครั้งพุทธกาลเวลาพระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรม พุทธบริษัทจึงสำเร็จมรรคผลกันมาก การแสดงธรรมจึงเป็นพื้นฐานมาโดยลำดับ จนถึงพระปฏิบัติในสมัยปัจจุบันที่เกี่ยวกับการฟังเทศน์..
..ทางภาคปฏิบัติ ผู้ที่จะแสดงอรรถธรรมตามหลักความจริงที่ได้ปฏิบัติและรู้เห็นมานั้นให้ฟังก็มีจำนวนน้อย ไม่เหมือนครั้งพุทธกาลซึ่งมีสาวกมากมายที่ได้สำเร็จไปโดยสมบูรณ์แล้ว การฟังธรรมจากสาวกทั้งหลายในครั้งพุทธกาล จึงฟังได้อย่างสะดวกและเป็นอรรถเป็นธรรมจริงๆ เพราะผู้รู้ธรรมมีจำนวนมาก และสถานที่ที่บำเพ็ญก็สะดวกสบาย เป็นในป่าในเขาในที่เงียบสงัด
สมัยทุกวันนี้ ผู้ปฏิบัติที่จะรู้จริงเห็นจริงดังครั้งพุทธกาล ก็มีจำนวนน้อย นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติที่สนใจต่ออรรถต่อธรรมอย่างจริงจังเหมือนในครั้งนั้น ก็มีจำนวนน้อยอีกด้วย แต่อย่างไรก็ตามผู้มุ่งต่ออรรถต่อธรรม ฟังอรรถฟังธรรมจากการปฏิบัติของครูอาจารย์ที่ได้ปฏิบัติและรู้เห็นมาด้วยดีนั้น ย่อมมีผลประจักษ์โดยลำดับ ตามกำลังความสามารถของผู้ฟังเช่นเดียวกับครั้งพุทธกาล..
บางส่วนจาก จิตบริสุทธิ์
พระธรรมเทศนา หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน
เมื่อวันที่ ๓ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๑๙
http://www.luangta.com/thamma/thamma_talk_text.php?ID=1588&CatID=1
26.7.16
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment